โรคราแป้งขาว(Powdery mildew)
สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อราใน 2 สภาพด้วยกัน คือ Imperfect stage : Oidium tuckeri Berk. Perfect stage : Uncinula necator Schw.& Burr. เนื่องจากสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อสาเหตุที่ทำลายองุ่นในประเทศไทยมักจะได้แก่เชื้อ Oidium tuckeri เป็นส่วนใหญ่ การแพร่ระบาด สปอร์หรือส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราแพร่ระบาดไปได้ง่ายโดยทางลม ฝน น้ำพัดพาไปและอาจติดไปกับแมลงได้ด้วย นอกจากนี้เชื้อราจะพักตัวในสภาพเส้นใยที่บริเวณ ตาองุ่น เจริญเติบโต และสร้างสปอร์บนยอดที่แตกใหม่ แล้วแพร่ระบาดทำลายส่วนอื่นๆ ของพืช สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โรคระบาดมากในสภาพที่มีอากาศแห้งแล้งและเย็น มีแสงแดดน้อย ได้แก่ช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ลักษณะอาการ เกิดกับทุกส่วนของต้นองุ่น อาการที่ใบจะพบทางด้านบน เกิดเป็นดวงสีขาวขนาดต่างๆ กัน ส่วนมากเป็นรูปกลมเล็ก เมื่อนานเข้าดวงจะขยายใหญ่ขึ้นแล้วจะปรากฏให้เห็นเป็นฝ้าเต็มไปหมด ทำให้ใบเสียรูป ม้วนงอ ชะงักการเจริญเติบโต ในที่สุดใบจะเหี่ยวแห้งตาย ไป อาการที่ยอดจะปรากฏคล้ายกับอาการบนใบ คือเกิดเป็นดวงขาวๆ ตามส่วนต่างๆ ถ้าเป็นมากตามยอดจะถูกคลุมด้วยราขาวนี้เต็มไปหมด ในตอนแรกบริเวณแผลจะเป็นสีเทา ต่อมาจะเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น และแห้งแคระแกรนไป บางครั้งจะเห็นมีกิ่งแตกแขนงออกมามากผิดปกติ อาการบนช่อดอกก็เช่นเดียวกับอาการบนใบ จะเกิดมีฝ้าฝุ่นขาวๆ ปกคลุมตามช่อดอกทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล ถ้าเป็นกับผลเล็กจะทำให้เปลือกกร้านผลแระแกรน ระยะนี้ถ้าองุ่นได้รับน้ำมากผลจะแตก ผลองุ่นบิดเบี้ยว เสียรูป ตกกระ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นเข้าทำลายซ้ำเติมได้ การป้องกันกำจัด ใช้วิธีปฏิบัติทางเขตกรรม (cultural practices) โดยทำแปลงปลูกให้สะอาดตัดแต่งกิ่งให้โล่ง โปร่งมีอากาศพัดผ่านทรงพุ่ม เผาหรือฝังเศษซากพืชเป็นโรคให้หมด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ควรฉีดพ่นในระยะที่องุ่นแตกใบอ่อน เช่น ใช้กำมะถันผง (sulfur dust) ในสภาพอากาศที่แห้ง ฉีดพ่นคลุมใบไว้ (ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้ใบองุ่นไหม้) หรือใช้สารละลายกำมะถัน (wettable sulfur) ในสภาพที่มีฝนตกชุก ที่อุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส (ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 18 องศาเซลเซียสจะใช้กำมะถันไม่ได้ผล หรือถ้าสูงกว่า 30 องศาเซลเซียสก็จะเป็นพิษกับพืช) นอกจากนี้ยังอาจใช้สารเคมี ไดโนแคป อัตรา 8 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร (ประมาณ 1.5 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ) พ่น 10-14 วันต่อครั้ง ใช้น้ำผสมแล้ว 15-35 ปี๊บต่อพื้นที่ 1 ไร่ หรืออาจใช้ไพราโซฟอสอัตรา 6-10 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร (ประมาณ 0.5-1 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ) พ่นให้ทั่วต้นพืช เมื่อเริ่มพบอาการของโรค และพ่นซ้ำ 7-14 วัน หลังจากพ่นครั้งแรก
Back