สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides
การแพร่ระบาด
เชื้อแพร่ระบาดได้ดีโดยน้ำ ฝน หรือลมพัดพาไป นอกจากนี้ก็ติดอยู่ตามเศษซากองุ่นที่เป็นโรคแพร่ระบาดทั่วไป
ลักษณะอาการ
เกิดได้ทุกส่วนของพืชและทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยเกิดได้ดีกับส่วนที่ยังอ่อนอยู่เช่นใบอ่อน ยอดอ่อน ทั้งนี้จะเกิดเป็นแผลจุดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
2-3 มิลลิเมตรที่ใบองุ่น กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเทา ขอบแผลมีสีเข้มกว่า บริเวณที่เป็นแผลจะแห้งและบางหลุดออกเห็นเป็นรู ที่ยอดหรือมือจับจะเกิดแผลไหม้สีเทาถึงดำ ยาวไปตามความยาวของกิ่งก้าน และจะเห็นลัษณะของกลุ่มเชื้อสาเหตุเป็นจุดดำๆ นูนออกมาเล็กน้อยตามรอยแผลนั้น ซึ่งถ้าหากมีความชื้นสูงจะเห็นเป็นเมือกสีชมพูอยู่ที่กลางแผล ถ้าเป็นมากต้นจะแคระแกรน กิ่งก้านและลำต้น โดยเฉพาะมือจับจะแห้งตาย ส่วนอาการที่ผลองุ่น เมื่อเชื้อเข้าทำลายเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะยุบตัวลง ขอบแผลมีสีแดงเข้ม ในขณะที่กลางแผลมีสีเทาหรือดำ ขนาดแผลเฉลี่ยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.6-1.0 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะขยายลุกลามออกไปทั่วผลได้
การป้องกันกำจัด
ใช้หลักการเขตกรรมเข้าช่วยเช่นเดียวกับโรคราน้ำค้างองุ่น กล่าวคือตัดแต่งกิ่งให้โปร่งโล่ง ทำลายเศษซากพืชเป็นโรค จัดการระบายน้ำให้ดี นอกจากนี้การหลีกเลี่ยงไม่ปลูกองุ่นในช่วงปลายฝนอันเป็นระยะระบาด จะช่วยลดอาการโรคลงได้ เช่นอาจเลี่ยงมาปลูกประมาณเดือน มกราคม
ควบคุมโรคใยสวนก่อนระยะเก็บเกี่ยวด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา คาร์เบนดาซิม อัตรา 6-12 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร (ประมาณ 0.5-1 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ) พ่นให้ทั่วต้นพืช หรือใช้ คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ ฉีดพ่นในระยะเริ่มออกดอก และขณะที่ดอกยังเล็กอยู่
Back