1. หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ชาวสวนเรียกว่า "หนอนหนังเหนียว" ทำความเสียหายต่อทุกส่วนขององุ่นทั้งใบ ดอก ผลและยอดที่จะเจริญไปเป็นดอกและผลในฤดูถัดไป หนอนกระทู้หอมตัวเต็มวัย เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กวางไข่เป็นกลุ่ม 20-80 ฟอง บริเวณด้านหลังใบ ไข่ปกคลุมด้วยขนสีขาวหนอยวัยอ่อนจะแทะผิวใบพรุนเป็นร่างแหทำให้ใบแห้งตายและเมื่อหนอนโตเต็มที่จะกัดกินใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อนขององุ่นเสียหาย

การป้องกันกำจัด

1. โดยการใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนกระทู้หอมฉีดพ่นเมื่อพบตัวหนอนบนใบองุ่น หนอนที่มากัดกินใบจะได้รับเชื้อไวรัสทำให้เป็นโรค Grassarie one และตายภายใน 1-2 วัน

2. ใช้กับดักแสงไฟ (Black light) หรือกาวดักเหนียวเพื่อดักผีเสื้อทั้งตัวผู้ตัวเมีย ก่อนจะขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป โดยวางไว้ในสวนองุ่นโดยเฉพาะช่วงตัดแต่งกิ่งและยอดอ่อนเริ่มแตกออกมา

3. โดยการใช้เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ชูริงเจนซิล (Bacillus Thuringicnsis) ใช้ชื่อการค้า เช่น แบคโทสปิน เอชดับบลิวพี, ฟลอร์แบค เอฟซี สำหรับหนอนกระทู้หอม

4. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกลุ่มคาร์บาเมท เช่น เมทโธมิล 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารกลุ่มยับยั้งการเจริญเติบโต เช่น ปูโพรเฟซิน 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อระงับการลอกคราบของตัวหนอนกระทู้

2. หนอนเจาะสมอฝ้าย ทำลายองุ่นโดยกัดกินส่วนดอกและเมล็ดภายในผลองุ่น ตั้งแต่ระยะติดดอกจนถึงดอกบาน จะพบช่อดอกถูกกัดกินเป็นแถบและระยะช่อผลอ่อนอายุระหว่าง 10-14 วัน หลังจากดอกบานแล้วจะเจาะกินเมล็ดภายในหมดและย้ายไปกัดกินผลอื่นต่อไปผลที่ถูกทำลายจะเป็นรู หนอน 1 ตัว สามารถทำลายได้หลายช่อดอกโดยเฉพาะช่อดอกที่อยู่ใกล้เคียงกัน หนอนมีตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดกลาง ตัวผีเสื้อจะซ่อนอยู่ตามใบแก่ขององุ่น

ใบที่ถูกหนอนทำลาย

การป้องกันกำจัด

1. ในระยะติดดอกและผลอ่อนควรหมั่นตรวจดูช่อองุ่น เมื่อพบหนอนหรือตัวผีเสื้อควรจับทิ้งทำลายเพื่อไม่ให้ลุกลามไปช่ออื่น

2. ใช้เชื้อไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้ายฉีดพ่นเช่นเดียวกับหนอนกระทู้หอม

3. ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลเฟน เช่น พอสซ์ อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

3. เพลี้ยไฟ เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กใช้ปากเขี่ยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อน ทำให้ยอดใบอ่อนหักงอ ใบแห้งกรอบไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด ถ้าทำลายระยะดอกทำให้ดอกร่วงไม่เกิดผลหรือทำให้ผลมีตำหนิ พบการระบาดตั้งแต่หลังจากตัดกิ่งจนถึงผลโตเต็มที่เนื่องจากองุ่นมีการแตกยอดตลอดทั้งปี

การป้องกันกำจัด

1. ควรหมั่นตรวจดูเพลี้ยไฟตามยอดใบอ่อน ช่อดอกหรือผลอ่อน ถ้าพบเป็นร้อยกร้านสีน้ำตาลควรรีบป้องกันกำจัดทันที

2. ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นในพุ่มให้ชุ่ม จะทำให้การระบาดลดลงเพราะเพลี้ยไฟไม่ชอบความชื้นสูง

3. ฉีดพ่นสารเคมีกลุ่มคาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์พ่นให้ทั่วต้น 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน

Back